ทองพลอย50

รูปภาพของฉัน
รองผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านแดง

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

คุณสมบัติของทองคำ

ทองคำ เรียกโดยย่อว่า “ทอง” เป็นธาตุลำดับที่ 79   มีสัญลักษณ์ Au       ทองคำเป็นโลหะแข็งสีเหลือง   เกิดเป็นธาตุอิสระในธรรมชาติ   ไม่ว่องไวต่อปฏิกิริยาและทนทานต่อการขึ้นสนิมได้ดีเลิศ   ทองคำมีจุดหลอมเหลวที่ 1064 องศาเซลเซียส    จุดเดือดที่ 2701 องศาเซลเซส   มีความถ่วงจำเพาะ 19.3 และมีน้ำหนักอะตอม 196.67     ลักษณะที่พบเป็นเกล็ด เม็ดกลม แบน หรือรูปร่างคล้ายกิ่งไม้   รูปผลึกแบบลูกเต๋า(Cube) หรือ ออคตะฮีดรอน (Octahedron) หรือ โดเดกะฮีดรอน (Dodecahedron) 
คุณสมบัติสำคัญของทองคำอีกประการหนึ่งคือ   ทองคำเป็นโลหะที่อ่อนและเหนียว    ทองคำหนัก 1 ออนซ์    สามารถทำให้เป็นเส้นได้ยาวถึง 50 ไมล์   และสามารถตีแผ่ทองคำให้เป็นแผ่นบางขนาด 0.00005 นิ้วได้ (หรืออาจบุเป็นแผ่นจนมีความหนาน้อยกว่า 0.0001 มิลลิเมตรได้)    นอกจากนี้   ทองคำยังเป็นโลหะที่ไม่ละลายในกรดชนิดใดเลย        แต่สามารถละลายได้อย่างช้าๆ ในสารละลายผสมระหว่างกรดดินประสิวและกรดเกลือ   
จุดเด่นสำคัญของทองคำอยู่ที่สี   กล่าวคือ   ทองคำมีสีเหลืองสว่างสดใส   และมีความสุกปลั่ง (Brightness) มีประกายมันวาวสะดุดตา   นอกจากนี้ยังไม่เป็นสนิมแม้จมดินจมโคลน   มีความแข็งเหนียว เนื้อแน่น ไม่สกปรก ไม่หมอง ไม่เป็นคราบไคลง่ายเหมือนวัตถุชนิดอื่นๆ
คุณสมบัติเหล่านี้ประกอบกับลักษณะภายนอกที่เป็นประกายจึงทำให้เป็นที่หมายปองของมนุษย์มาเป็นเวลานาน    โดยนำมาตีมูลค่าสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศและใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับวงการเครื่องประดับ
ทองคำได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในวงการเครื่องประดับ    เพราะเป็นโลหะมีค่าชนิดเดียวที่มีคุณสมบัติพื้นฐาน 4 ประการซึ่งทำให้ทองคำโดดเด่นและเป็นที่ต้องกาสเหนือบรรดาโลหะมีค่าทุกชนิดในโลก คือ
1.ความงดงามมันวาว (Lustre) สีสันที่สวยงามตามธรรมชาติผสานกับความมันวาวก่อให้เกิดความงามอันเป็นอมตะ   ทองคำสามารถเปลี่ยนเฉดสีทองโดยการนำทองคำไปผสมกับโลหะมีค่าอื่น ๆ   ช่วนเพิ่มความงดงามให้แก่ทองคำได้อีกทางหนึ่ง
2.ความคงทน (Durable) ทองคำไม่ขึ้นสนิม ไม่หมอง และไม่ผุกร่อน แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม
3.ความหายาก (Rarity) ทองคำเป็นแร่ที่หายาก   กว่าจะได้ทองคำมาหนึ่งออนซ์   ต้องถลุงก้อนแร่ที่มีทองคำอยู่เป็นจำนวนหลายตัน   และต้องขุดเหมืองลึกลงไปหลายสิบเมตรจึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูง   เป็นสาเหตุให้ทองคำมีราคาแพงตามต้นทุนในการผลิต
4.การนำกลับไปใช้ประโยชน์ (Reuseable) ทองคำเหมาะสมที่สุดต่อการนำมาทำเป็นเครื่องประดับ   เพราะมีความเหนียวและอ่อนนิ่ม   สามารถนำมาทำขึ้นรูปได้ง่าย   อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยการทำให้บริสุทธิ์ (Purified) ด้วยการหลอมได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน
คุณประโยชน์ของทองคำ
            1. วงการอุตสาหกรรมเครื่องประดับอัญมณี   ทองคำได้ครอบครองความเป็นหนึ่งในฐานะโลหะที่ใช้ทำเป็นเครื่องประดับ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด     จากอดีตถึงปัจจุบันเครื่องประดับอัญมณีทองคำได้มีส่วนทำเป็นฐานเรือนรองรับอัญมณีมาโดยตลอด   จากรูปแบบขั้นพื้นฐานของงานทองที่ง่ายที่สุด   ไปสู้เทคนิคการทำทองด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง 
            2. ความมั่นคงทางเศรษฐกิจการคลัง   ทองคำมีประโยชน์ในฐานะเป็นโลหะสื่อกลางแห่งการแลกเปลี่ยนเงินตรา   ทองคำถูกสำรองไว้เป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ    เพราะทองคำมีมูลค่าในตัวเอง ผิดกับเงินตราสกุลต่างๆ อาจเพิ่มหรือลดได้ ทองคำถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรของตลาดการค้า   นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำเป็นเหรียญกษาปณ์ทองคำ หรือแสตมป์ทองคำ หรือธนบัตรทองคำ   ซึ่งถูกผลิตโดยรัฐบาล หรือหน่วยงานเอกชน   ในวาระโอกาสพิเศษต่าง ๆ          เพื่อก่อให้เกิดกระแสค่านิยมการเก็บสะสมเป็นที่ระลึกอีกด้วย
            3. ทองคำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์   ทองคำถูกนำมาให้ในวงการอิเล็คทรอนิกส์และการสื่อสารโทรคมนาคม   อาทิเช่น สวิตซ์โทรศัพท์ที่ใช้เป็นแผงตัด   เพื่อให้กระแสไฟฟ้าเดินได้สะดวก การใช้ลวดทองคำขนาดจิ๋วเชื่อมต่อวัสดุกึ่งตัวนำและทรายซิสเตอร์    การใช้ลวดทังสเตนและโมลิบดีนัมเคลือบทองคำใช้ในอุตสาหกรรมหลอดสูญญากาศ   การเคลือบผิวเสาอากาศด้วยทองคำเพื่อการสื่อสารระยะไกล    การใช้ตาข่ายทองคำเพื่อป้องกันการรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในระบบการสื่อสารการบินพาณิชย์     การใช้อลูมิเนี่ยมเคลือบทองในเครื่องถ่ายเอกสารเพื่อทำหน้าที่สะท้อนรังสีอินฟราเรดได้อย่างดีเลิศ    การใช้โลหะทองคำเจือเงิน และนิกเกิลประกบผิวทองเหลืองสำหรับใช้ในปลั๊ก   ปุ่มสวิตซ์ไช้งานหนัก   หรือสปริงเลื่อนในลูกปิดเลือกเปลี่ยนช่องทีวี   แผงวงจรต่างๆ   ก็มีทองคำเป็นตัวนำไฟฟ้าเพื่อให้ทำงานได้ตลอดอายุงานเนื่องจากทองคำอยู่ตัว   และไม่เกิดฟิล์มออกไซด์ที่ผิว
4. ประโยชน์ในการคมนาคมและการสื่อสารโทรคมนาคม   ทองคำมีคุณสมบัติการสะท้อนรังสีอินฟราเรดได้ดี ทองคำจึงถูกนำมาใช้กับดาวเทียม ชุดอวกาศ และยานอวกาศ   เพื่อป้องกันการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ที่มากเกินไป   กระจกด้านหน้าของเครื่องบินคองคอร์ด     จะมีแผ่นฟิล์มทองคำติดไว้ป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ และป้องกันการจับตัวเป็นน้ำแข็งหรือการทำให้เกิดฝ้าหมอกมัวกระจกด้านนอกของเครื่องเป็นที่มีสีน้ำตาลหรือบรอนซ์จาง ๆ   และมองจากด้านในจะเป็นสีน้ำเงินจาง ๆ    ก็มีชั้นฟิล์มทองคำติดไว้เพื่อป้องกันความกล้าของแสงแดดและความร้อนจากดวงอาทิตย์     ใบจักรกังหันในเครื่องบินไอพ่น   ถ้าไม่มีส่วนผสมของทองคำที่จะประสานกับโรเตอร์ ย่อมจะแตกแยกได้ง่าย   ชิ้นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ก็มีทองคำเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย      อาคารสำนักงานใหญ่ ๆ   ของธนาคารกลางในแคนนาดา ในนครโตรอนโต้   ก็ติดแผ่นฟิล์มทองคำด้วยทอง 24 K มีน้ำหนักรวมถึง 77.7 กิโลกรัม    เพื่อลดความร้อน และปรับอุณหภูมิในอาคารให้พอเหมาะและเพิ่มความสวยของอาคารอีกด้วย
5. ประโยชน์ในวงการแพทย์และทันตกรรม   ความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยทองคำมีมาแต่ครั้งเก่าก่อน   คนโบราณเชื่อว่าเมื่อนำทองคำผสมกับยา จะเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยให้มีชีวิตยืนยาว    หมอแผนโบราณยังคงสั่ง “ยามเม็ดทอง” ให้กินโรคหลายอย่างรวมทั้งโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศและการเป็นหมัน     ในโลกยุคปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่ก็มีการทดลองให้ทองคำเพื่อการบำบัดรักษาโรคภัย      ทองคำถูกนำมาใช้ในการต่อสู้กับโรคมะเร็งในรายหนัก ๆ   แพทย์จะฉีดสารละลายของทองคำกัมมันตรังสี แต่ปริมาณทองที่ใช้ในการแพทย์รวมแล้วยังเล็กน้อยและไม่มีความสำคัญอะไร ซ้ำราคายังแพงอีกต่างหาก   การใช้ทองคำในการแผ่รังสี    การสอดทองใส่ในกล้ามเนื้อเพื่อให้มีกำลังต่อสู้กับความเจ็บป่วย    การใช้ทองคำเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการแยกวิเคราะห์ปอดและตับ     ในด้านทันตกรรม   ทองคำถูกนำมาใช้โดยวิธีการบ่มแข็งทองคำ ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย   และมีจุดหลอมตัวปานกลาง ทองคำจึงเหมาะสมในการถูกนำมาใช้ในการอุดฟัน ครอบฟัน   ทำฟันปลอม    การจัดฟันและการดัดฟัน
 
การกำหนดคุณภาพของทองคำ
การกำหนดคุณภาพของทองคำของไทย     ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีวิธีการกำหนดคุณสมบัติ ดังนี้
1.ในอดีต 
ปรากฎหลักฐานตามประกาศของพระบาทสมเด็จพระพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ระบุถึงการกำหนดคุณภาพทองคำ    โดยตั้งพิกัดราคา(ทองคำ)    ตามประมาณของเนื้อทองคำบริสุทธิ์ในทองรูปพรรณ    เนื้อทองคำดังกล่าวอาจผสมด้วยแร่เงิน   หรือทองแดงมากน้อยตามคุณภาพของทองคำ   ส่วนการเรียกทองคุณภาพต่าง ๆ นั้น    ใช้วิธีการเรียกราคาของทองคำต่อน้ำหนักทองหนึ่งบาทเป็นมาตรฐานในการเรียกชื่อทองคำ    โดยเริ่มตั้งแต่ทองเนื้อสีขึ้นไปจนถึงทองเนื้อเก้า   ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ทองเนื้อสี่           หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท          ราคา 4 บาท
ทองเนื้อห้า          หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท          ราคา 5 บาท
ทองเนื้อหก         หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท          ราคา 6 บาท (ทองดอกบวบ)
ทองเนื้อเจ็ด         หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท         ราคา 7 บาท
ทองเนื้อแปด       หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท          ราคา 8 บาท
ทองเนื้อเก้า         หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท         ราคา 9 บาท
ทองเนื้อเก้าเป็นทองคำบริสุทธิ์ เรียกว่า   “ทองธรรมชาติ” หรือบางที่เรียกว่า “ทองชมพูนุช” เป็นทองที่มีสีเหลืองเข้มออกแดง    นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันอีกหลายชื่อ   เช่น   “ทองเนื้อแท้”    “ทองคำเลียง”   ซึ่งหมายถึงทองบริสุทธิ์ปราศจากธาตุอื่นเจือปน   ซึ่งตรงกับคำในภาษาล้านนาว่า “คำขา”    นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกทองคุณภาพต่าง ๆ    อีกหลายชื่อ   เช่น   “ทองปะทาสี”   ซึ่งเป็นทองคำเปลวเนื้อบริสุทธิ์ชนิดหนา “ทองดอกบวบ” เป็นทองที่มีเนื้อทองสีเหลืองอ่อนคล้ายดอกบวบ
2.ในปัจจุบัน  
การกำหนดคุณภาพของทองคำยังคงใช้ความบริสุทธิ์ของทองคำในการบ่งบอกคุณภาพของทองคำ   โดยการคิดเนื้อทองเป็น “กะรัต”   ทองคำบริสุทธิ์   หมายถึง   ทองคำที่มีเนื้อทอง 99.99 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น    หรือเรียกกันว่าทองร้อยเปอร์เซ็นต์   หรือเรียกกันในระบบสากลว่า   ทอง 24 กะรัต    ทองซึ่งมีเกณฑ์การบ่งบอกคุณภาพของเนื้อทองโดยบ่งบอกความบริสุทธิ์เป็นกะรัตมีชื่อเรียกว่า   “ทองเค”   ทองคำบริสุทธิ์ไม่มีโลหะหรือสารอื่นเจือปนอยู่เป็นทอง 24 กะรัต   หากมีความบริสุทธิ์ของทองคำลดต่ำลงมา   ก็แสดงว่ามีโลหะอื่นเจือปนมากขึ้นตามส่วน   เช่น   ทอง 14 กะรัต หมายถึง ทองที่มีเนื้อทองบริสุทธิ์ 14 ส่วน และมีโลหะอื่นเจือปน 10 ส่วน   เป็นต้น        ทองประเภทนี้บางทีเรียกว่า “ทองนอก”    ซึ่งส่วนมากนิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับเพชรพลอยต่าง ๆ   ในอุตสาหกรรมอัญมณี
กะรัต                 สัญลักษณ์          เปอร์เซ็นต์          เฉดสีที่ได้           นิยมในประเทศ
24                     24K                   100%                ทอง                  สวิสต์เซอร์แลนด์
22                     22K                   91.7%               เหลืองทอง          อินเดีย
21                     21K                   84.5%               เหลืองทอง          กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
18                     18K                   75%                  เหลืองขาว           อิตาลี,ฝรั่งเศส,ญี่ปุ่น
14                     14K                   58.3%               เหลืองขาว           สหรัฐอเมริกา,อเมริกาเหนือ,อังกฤษ
10                     10K                   41.6%               เหลือง                สหรัฐอเมริกา ,อเมริกาเหนือ
9                      9K                     37.5%               เหลืองปนเขียว     อังกฤษ
8                      8K                     33.3%               เหลืองซีด           เยอรมนี
            สำหรับประเทศไทยนั้นใช้มาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำที่ 96.5 เปอร์เซ็นต์   หากจะเทียบเป็นกะรัตแล้ว จะได้ประมาณ 23.16 K      ซึ่งจะได้สีทองที่เหลืองเข้มกำลังดี   และมีความแข็งของเนื้อทองพอเหมาะสำหรับการนำมาทำเครื่องประดับ                      เนื่องจากทองคำบริสุทธิ์ 99.99 เปอร์เซ็นต์     มีความอ่อนตัวมาก   จึงไม่สามารถนำมาใช้งานได้         จำเป็นต้องผสมโลหะอื่น ๆ   ลงไปเพื่อปรับสมบัติทางกายภาพของทองคำให้แข็งขึ้น คงทนต่อการสึกหรอ    โลหะที่นิยมนำมาผสมกับทองคำได้แก่ เงิน ทองแดง นิกเกล และสังกะสี   ซึ่งอัตราส่วนจะสัมพันธ์ตามความต้องการของผู้ใช้งาน กล่าวคือ ผู้ผลิตทองรูปพรรณแต่ละรายจะมีสูตรของตนเอง    ในการผสมโลหะอื่นเข้ากับทอง     บางรายอาจผสมทองแดงเป็นสัดส่วนที่มากหน่อยเพราะต้องการให้สีของทองออกมามีสีอมแดง หรือบางรายอาจชอบให้ทองของตนสีออกเหลืองขาวก็ผสมเงินในอัตราส่วนที่พอเหมาะ         ซึ่งทั้งหมดนั้นจะได้ความบริสุทธิ์ของทอง 96.5 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกัน  
หน่วยวัดน้ำหนักทอง
กรัม [Grammes] 
จะใช้กันเป็นส่วนใหญ่ จะถือได้ว่าเป็นสากล หรือนานาชาติก็ได้
ทรอยออนซ์ [Troy Ounces] 
และเป็นหน่วยน้ำหนักที่ใช้ในการกำหนดราคาซื้อขายกันในตลาดโลก 
ส่วนใหญ่จะใช้กันในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย
ตำลึง,เทล [Taels]  
ส่วนใหญ่ใช้กันในประเทศที่ใช้ภาษาจีน เช่นฮ่องกง ไต้หวัน จีน
โทลา [Tolas]
จะใช้กันในอินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ และประเทศในตะวันออกกลาง
ชิ [Chi] 
ใช้ในประเทศเวียตนาม
ดอน [Don]
ใช้ในประเทศเกาหลีใต้
[mesghal]
ใช้ในประเทศอิหร่าน
บาท [Baht] 
ใช้ในประเทศไทย
            
การแปลงหน่วยวัดทองคำแท่ง
1 กิโลกรัม                                  เท่ากับ                          32.1508 ทรอยเอานซ์    
1 ทรอยเอานซ์                            เท่ากับ                           31.1034807 กรัม
1 ตำลึง                                      เท่ากับ                           37.429 กรัม
1 โทลา                                     เท่ากับ                           11.6638 กรัม
1 ชิ                                          เท่ากับ                            3.75 กรัม
1 ดอน                                      เท่ากับ                            3.75 กรัม
1 mesghal                                เท่ากับ                            4.6083 กรัม
1 บาท (ทองคำแท่ง)                    เท่ากับ                            15.244 กรัม 
1 บาท (ทองรูปพรรณ)                  เท่ากับ                            15.16 กรัม
1 บาท                                       เท่ากับ                           4 สลึง
1 สลึง                                      เท่ากับ                            10 หุ๋น 
1 หุ๋น                                         เท่ากับ                           0.38 กรัม
การกำหนดน้ำหนักของทองในประเทศไทย  มีหน่วยเป็น  “บาท” โดยทองคำแท่ง 1 บาท หนัก 15.244 กรัม ส่วนทองรูปพรรณ 1บาท หนัก 15.16 กรัม
ที่มา :  ข้อมูลจาก goldcalculator.com /  http://www.goldtraders.or.th/gold.php?id=2

2 ความคิดเห็น:

  1. ทองคำราคาบาทละสองหมื่นฝ่าแล้วทองพลอยละราคาเท่าไร

    ตอบลบ
  2. ทองคำว่าแพงแล้วนะ...แต่ทองพลอย แพงมากจนประเมินค่ามิได้

    ตอบลบ